ร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2564 โดยเน้น 6 ประเด็นหลัก
ปลัด ศธ.กล่าวว่า ศธ.ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแนวทางของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการจัดทำร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องเชื่อมโยงและส่งข้อเสนอให้สภาปฏิรูปประเทศไทยต่อไป โดยมีกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษา ใน 6 ประเด็น ได้แก่
1) ปฏิรูปครู อาทิ รื้อระบบบริหารบุคคล เพื่อให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นครู ทบทวนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำหนดมาตรการให้ครูอยู่ประจำห้องเรียนและผู้บริหารอยู่ประจำโรงเรียน พัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการกระจายครูที่เหมาะสม เป็นต้น
2) เพิ่ม-กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม อาทิ พัฒนาระบบการศึกษาทางไกล พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง ปรับเงินอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดช่วงเวลาให้ทุกสื่อจัดรายการเพื่อการศึกษาในช่วงที่เหมาะสม ควบคุมร้านเกมทั้งเวลาเปิดปิดและเนื้อหาสาระ การพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เร่งรัดพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น
3) ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ อาทิ ทบทวนโครงสร้างและบทบาท ศธ. และการบริหารในพื้นที่ กระจายอำนาจการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนหรือพื้นที่เป็นฐาน การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มอิสระในการบริหารและสามารถตรวจสอบได้แก่โรงเรียนและสถานศึกษา ทบทวนเรื่องต่างๆ ทั้งวิธีการประเมินของหน่วยงานประเมินต่างๆ วิธีการได้มาของตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในคณะกรรมการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม และรื้อระบบจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ระบบเงินอุดหนุนรายหัว เป็นต้น
4) การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อาทิ ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จัดทวิภาคี สหกิจศึกษาเข้มข้น ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ เร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ผลิตและพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีแก่ประเทศ เป็นต้น
5) ปฏิรูปการเรียนรู้ อาทิ เร่งแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้ซ้ำได้ ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ระเบียบ วินัย ศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 อาชีพ และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ห้องเรียน ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ขยายผลต้นแบบ/การนำร่องรูปแบบที่ดี เช่น โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปแบบ Bottom Up
6) ปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษา อาทิ จัดทำแผนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยพัฒนาเนื้อหาสาระ สื่อต่างๆ มีระบบรับรองและควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเนื้อหา เตรียมความพร้อมของครู โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ยกเว้นภาษีอากรการนำเข้าอุปกรณ์ สื่อเพื่อการศึกษา : BOI การศึกษา เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น