ปฏิทินการปฏิบัติงานฝ่ายวางแผนฯ

ปฏิทินการปฏิบัติงานด้านการวางแผนและประกันคุณภาพการศึกษา
-ขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโรงเรียนมาตรฐานสากลตลอดปี 2556-57
-รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2556 (มีนาคม 2557)
-รายงานประจำปีฉบับเผยแพร่ (มี.ค.-พ.ค. 2557)

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

เตรียมประเมินภายนอกรอบ4

การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่(พ.ศ.2559-2563)
สมศ.จะปรับระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (ปีงบประมาณ 2559 2563) เป็นการประเมินรายพื้นที่ หรือ แอเรียเบส เพื่อประเมินสถานศึกษาทุกระดับการศึกษาเป็นรายจังหวัด โดยจะต่างจากการประเมินฯในรอบที่ผ่านๆมา ที่เป็นการประเมินรายสถานศึกษา และสมศ.ต้องสรุปผลการประเมินในรอบ 5 ปีเป็นภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ไม่รู้ว่าคุณภาพการศึกษาของแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ก่อนการประเมินฯจะประกาศให้แต่ละจังหวัดทราบล่วงหน้าว่า จังหวัดของตนเองจะถูกประเมินในช่วงปีใดของรอบสี่ ซึ่งจังหวัดที่ถูกประเมินในช่วงปีแรกๆของรอบก็อาจจะถูกประเมิน 2 รอบ เพื่อให้สถานศึกษาไม่หยุดการพัฒนา

การประเมินแบบแอเรียเบส ได้นำร่องในการประเมินฯรอบสามแล้ว โดยปี 2554 ประเมิน 8 จังหวัด ปี 2555 ประเมิน 20 จังหวัด และปี 2556 ประเมิน 40 จังหวัด ซึ่งการประเมินฯลักษณะนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของคุณภาพการศึกษาในแต่ละ จังหวัด เชื่อมโยงการศึกษาทุกระดับเข้าด้วยกัน และทำให้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในแต่ละจังหวัดด้วยว่ามีความเข้มข้น หรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประเมินฯรูปแบบใหม่จะไม่เพิ่มภาระให้สถานศึกษา ครู อาจารย์ หรือนักเรียน และสมศ.จะพยายามประกาศผลการประเมินฯ ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งทราบผลเร็วขึ้นจากเดิมต้องรอผลประมาณ 9 เดือน เป็นภายใน 4 เดือนเท่านั้น
การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563)  ในการประเมินทุกระดับการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และ อุดมศึกษา ให้ใช้ตัวบ่งชี้ 20ตัว ใน3 มิติ คือ 1.ตัวบ่งชี้พื้นฐานที่ทุกแห่งต้องปฏิบัติ 2.ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ผู้เรียนและเอกลักษณ์สถานศึกษา และ3.มาตรการส่งเสริมที่ช่วยแก้ปัญหาสถานศึกษาและแก้ปัญหาสังคม โดยยึดแนวทาง 7 ด้าน ได้แก่  1.คุณภาพศิษย์  2.คุณภาพครูอาจารย์  3.ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 4.สังคมชุมชน  5.การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 6.อัตลักษณ์และเอกลักษณ์สถานศึกษา และ 7.มาตรการส่งเสริม ทั้งนี้จะมีการพิจารณาตัวบ่งชี้ใน 5 ประเด็น คือ 1.ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ICT หรือเทียบเท่า 2.การได้รับรางวัลและการยอมรับระดับชาติและนานาชาติ 3.ความสำเร็จของผู้เรียน 4.การมีงานทำหรือสอบได้ทุนศึกษาต่อจากองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศของบัณฑิตปริญญาตรี และ 5.ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต โดยแต่ละประเด็นจะมี 1คะแนนรวม 5 คะแนน

นอกจากนั้น  การประเมินด้านคุณภาพศิษย์ในรอบสี่นี้ จะเน้นการประเมินความเป็นคนดีทุกระดับการศึกษา โดยพิจารณาจากตัวเยาวชนว่า มีความขยัน อดทน พึ่งพาตนเอง และมีความรับผิดชอบหรือไม่ เช่น การช่วยเหลือทำกิจกรรมในโรงเรียนหรือบำเพ็ญประโยชน์จิตอาสา ซึ่งกำหนดว่าต้องทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างน้อยคนละ 50ชั่วโมงต่อปี เป็นต้น ส่วนการบริหารจัดการนั้นทุกระดับต้องได้รับการประเมิน เช่น มหาวิทยาลัยต้องประเมินตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดีและคณบดี ระดับอาชีวศึกษาและโรงเรียนก็ประเมินตั้งแต่กรรมการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่สำคัญการประเมินรอบสี่จะเน้นความรู้ความสามารถทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2564

ร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ปี 2558-2564 โดยเน้น ประเด็นหลัก
ปลัด ศธ.กล่าวว่า ศธ.ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแนวทางของหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  โดยเฉพาะการจัดทำร่าง Roadmap การปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องเชื่อมโยงและส่งข้อเสนอให้สภาปฏิรูปประเทศไทยต่อไป โดยมีกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษา ใน 6 ประเด็น ได้แก่
1) ปฏิรูปครู  อาทิ รื้อระบบบริหารบุคคล เพื่อให้ได้คนเก่งคนดีมาเป็นครู ทบทวนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  กำหนดมาตรการให้ครูอยู่ประจำห้องเรียนและผู้บริหารอยู่ประจำโรงเรียน  พัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการกระจายครูที่เหมาะสม เป็นต้น
2) เพิ่ม-กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม  อาทิ พัฒนาระบบการศึกษาทางไกล  พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง  ปรับเงินอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดช่วงเวลาให้ทุกสื่อจัดรายการเพื่อการศึกษาในช่วงที่เหมาะสม  ควบคุมร้านเกมทั้งเวลาเปิดปิดและเนื้อหาสาระ  การพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เร่งรัดพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น
3) ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ  อาทิ ทบทวนโครงสร้างและบทบาท ศธ. และการบริหารในพื้นที่  กระจายอำนาจการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนหรือพื้นที่เป็นฐาน การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน  เพิ่มอิสระในการบริหารและสามารถตรวจสอบได้แก่โรงเรียนและสถานศึกษา  ทบทวนเรื่องต่างๆ ทั้งวิธีการประเมินของหน่วยงานประเมินต่างๆ วิธีการได้มาของตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในคณะกรรมการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม และรื้อระบบจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ระบบเงินอุดหนุนรายหัว เป็นต้น
4) การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน  อาทิ ปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จัดทวิภาคี สหกิจศึกษาเข้มข้น ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ  เร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ  ผลิตและพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีแก่ประเทศ เป็นต้น
5) ปฏิรูปการเรียนรู้  อาทิ เร่งแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้ซ้ำได้  ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นความเป็นพลเมือง ประวัติศาสตร์ ระเบียบ วินัย ศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 อาชีพ และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ห้องเรียน  ส่งเสริมเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ขยายผลต้นแบบ/การนำร่องรูปแบบที่ดี เช่น โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปแบบ Bottom Up
6) ปรับระบบการใช้ ICT เพื่อการศึกษา  อาทิ จัดทำแผนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยพัฒนาเนื้อหาสาระ สื่อต่างๆ มีระบบรับรองและควบคุมคุณภาพและมาตรฐานเนื้อหา เตรียมความพร้อมของครู โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต  ยกเว้นภาษีอากรการนำเข้าอุปกรณ์ สื่อเพื่อการศึกษา : BOI การศึกษา เป็นต้น 

คสช.กับการปฏิรูปการศึกษา

ปฏิรูปการศึกษายุค คสช.
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ถ้านับการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นจุดเริ่มต้น ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดขึ้นมาตามลำดับ ได้แก่ การยกเลิกนโยบายประชานิยมแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เดิมจะเปลี่ยนมาเป็นห้องเรียนอัจฉริยะ หรือสมาร์ท คลาสรูม
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการ รวม 3 คน สะท้อนนัยการให้ความสำคัญกับปัญหาการศึกษา ยังไม่ตอบรับห้องเรียนอัจฉริยะ แต่เปลี่ยนมาเป็นมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยขยายผล พัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางไกลแทน ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว
ขณะที่เกิดปรากฏการณ์ทางการบริหารที่แตกต่างไปจากแนวทางการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายนโยบายที่ทำตามกันมา ซึ่งแต่ก่อน รัฐมนตรีว่าการฯจะกำกับดูแลหน่วยงานหลักที่มีสถานศึกษา บุคลากรและงบประมาณมากที่สุดคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันมอบหมายหน่วยงานหลักดังกล่าวให้กับรัฐมนตรีช่วย เพื่อผลักดันนโยบายใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการศึกษาทางไกลให้เกิดผลสัมฤทธิ์กว้างขวางออกไป โดยรัฐมนตรีว่าการเลือกกำกับดูแลหน่วยงานด้านการอาชีวศึกษา คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาด้วยตัวเอง
แนวทางการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าวสะท้อนนัยถึงการให้ความสนใจ วางน้ำหนักไปที่การศึกษาด้านอาชีวะ การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหาการขาดแคลนช่างเทคนิคระดับกลางและระดับสูง และทิศทางในอนาคตเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลางสู่รายได้สูงด้วยการยกระดับกำลังแรงงานจากไร้ฝีมือ ผลตอบแทนและผลผลิตต่ำ พัฒนาเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ
นโยบายนี้จะส่งผลไปถึงสถานศึกษาระดับพื้นฐาน ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าของการทำงาน การใช้ทักษะฝีมือ สามารถปฏิบัติได้จริงด้วยหรือไม่ น่าติดตาม
ด้วยการส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา สร้างหลักสูตรเพื่อให้เด็กค้นพบตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ รู้ความสามารถ ความถนัด ความชอบของตน ประกอบการตัดสินใจเลือกทางเดินในอนาคตระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ การพลิกฟื้นโรงเรียนมัธยมแบบประสมที่เคยจัดการศึกษารุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุค 2510 แต่ถูกยกเลิกไปจะกลับมาทำจริงจังกันอีกครั้งหรือไม่
ปรากฏการณ์ต่อมาคือ การประกาศตัวของผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปสายการศึกษามีจำนวนมากที่สุด สะท้อนถึงความสนใจ ความตระหนัก และความปรารถนาที่จะเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาไทยอย่างมีนัยอีกเช่นกัน
ตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่กำลังขยายตัวให้จับตาต่อไปคือ ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาด้วยการทบทวนโครงสร้างการจัดองค์กรบริหารการศึกษา ผ่าตัดกระทรวงศึกษาธิการใหม่
แยกสภาการศึกษาแห่งชาติกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเหมือนในอดีต แบ่งอุดมศึกษาออกไปตั้งเป็นทบวงมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อทบวงอุดมศึกษาและการวิจัย หรืออะไรก็ตาม
พร้อมกันนี้ เริ่มมีการขยับตัวด้านบริหารอาชีวศึกษา จะยกฐานะขึ้นเป็นทบวงอาชีวะเช่นกัน ทำให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาส่วนหนึ่งต้องเลือกตัดสินใจใหม่ว่าจะอยู่ใต้สังกัดใดดี อาทิ เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยชุมชน เป็นต้น
ส่งผลทำให้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มหวนคิดถึงทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาบ้าง ขณะที่การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต กำลังมองหาว่าจะมีช่องทางใดจะเติบใหญ่ มีอิสระและคล่องตัวยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่ผมลำดับมาตามนี้ ล้วนท้าทายทั้งฝ่ายกำหนดนโยบายยุคทำได้ ทำจริง ทำทันที กับฝ่ายคิดยุทธศาสตร์และมาตรการทางปฏิบัติที่ควรจะเป็นคือสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการศึกษา
แนวคิด นโยบาย และข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายจะมาบรรจบพบกันอย่างไร เมื่อไหร่
จะมีการสุมหัวเพื่อหาจุดลงตัวในประเด็นโครงสร้างองค์กรบริหารการศึกษากันอีกครั้งใหญ่
ผมหวั่นเหลือเกินว่าวังวนเดิมจะกลับคืนมาใหม่ ส่วนหัว ส่วนบน ส่วนกลาง จะต้องเสียเวลาสาละวน เสียกำลังคน เสียงบประมาณไปกับการจัดสรรตำแหน่ง หาเก้าอี้ให้ลงตัวก่อนเป็นหลัก ไม่ส่งผลถึงความเข้มแข็ง คล่องตัว มีอิสระของสถานศึกษา ซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของระบบการศึกษาที่แท้จริง
บทเรียนกว่าสิบปีที่ผ่านมายืนยันชัดว่า การเปลี่ยนแปลงส่วนบนไม่เกิดการกระจายอำนาจบริหารการศึกษาจนส่งผลไปถึงโรงเรียนและเด็ก คุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์จึงตกต่ำอย่างน่าใจหาย
ทิศทางและจุดเน้นของยุทธศาสตร์ที่ควรทำอย่างเร่งด่วนจึงไม่ใช่เน้นปฏิรูปโครงสร้าง แต่ต้องเป็นการปฏิรูปครู ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ และทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเป็นจริงยิ่งขึ้น
ปฏิรูปครูปัจจุบันและพัฒนาการผลิตครูใหม่อย่างเชื่อมโยงเป็นระบบ แก้ทุกประเด็นปัญหาทั้งประสิทธิภาพการทำงาน ปลุกจิตวิญญาณสำนึกของความเป็นครู ความไม่เป็นธรรมในการบริหารบุคคล การคอร์รัปชั่นในวงการครูและระบบการศึกษาในภาพรวม
แนวทางสนับสนุนที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ กระจายอำนาจการจัดให้มีการศึกษาให้องค์กรท้องถิ่นและหน่วยจัดการศึกษาอื่นๆ ที่มีศักยภาพให้มากที่สุด
ภายใต้เวลาจำกัด หากทำเรื่องเร่งด่วน ปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้และการกระจายอำนาจ
ก่อนมุ่งปฏิรูปโครงสร้าง เชื่อเหลือเกินว่า ปฏิรูปการศึกษามีความหวัง
ที่มา มติชนรายวัน