ปฏิทินการปฏิบัติงานฝ่ายวางแผนฯ

ปฏิทินการปฏิบัติงานด้านการวางแผนและประกันคุณภาพการศึกษา
-ขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโรงเรียนมาตรฐานสากลตลอดปี 2556-57
-รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2556 (มีนาคม 2557)
-รายงานประจำปีฉบับเผยแพร่ (มี.ค.-พ.ค. 2557)

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ค่านิยมที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรมีอะไร

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Desired Characteristics) หมายถึง ลักษณะที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน อันเป็นคุณลักษณะที่สังคมต้องการในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก ซึ่งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ 8 ประการ คือ
  • รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  • ซื่อสัตย์สุจริต
  • มีวินัย
  • ใฝ่เรียนรู้
  • อยู่อย่างพอเพียง
  • มุ่งมั่นในการทำงาน
  • รักความเป็นไทย
  • มีจิตสาธารณะ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กล่าวไว้ในมาตราที่ 23, 24 และ 26 เกี่ยวกับการจัดการศึกษา สรุปได้ว่า ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรม การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องบูรณาการความรู้ด้านต่างๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับตนเอง ทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย ทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข โดยต้องผสมผสานสาระความรู้เหล่านั้นให้ได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา และให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียน โดยพิจารณาพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกต พฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบ ควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน ตามความเหมาะสมในแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายปฏิรูปการศึกษา โดยยึดคุณธรรมนำความรู้ มุ่งมั่นขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยคำนึงถึงการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา นอกเหนือจากการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกในคุณค่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความสมานฉันท์ สันติวิธี และวิถีประชาธิปไตย

การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ครูผู้สอนจะเริ่มจากการศึกษานิยาม วิเคราะห์ตัวชี้วัดและพฤติกรรมบ่งชี้ของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ รวมทั้งศึกษาข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละวัย แต่ละบุคคล และนำมากำหนดแนวทางการพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้องในแต่ละคุณลักษณะแล้วนำคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตัวชี้วัด และพฤติกรรมบ่งชี้ที่วิเคราะห์ไว้ ไปบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โครงการต่างๆ และกิจวัตรประจำวันของผู้เรียน ดังนี้ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?






วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

นโยบาย กลยุทธ์ จุดเน้น สพฐ.

นโยบาย กลยุทธ์ จุดเน้น สพฐ.

วิสัยทัศน์
              “ สพฐ. เป็นองค์กรขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก เข้าสู่มาตรฐานสากล ภายในปี 2563 (ปรับ คำว่า สูงเทียบเท่าค่าเฉลี่ยของโลก ออก และใช้คำว่า เข้าสู่มาตรฐานสากล แทน)

พันธกิจ
พัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความสามารถตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาสู่คุณภาพระดับสากลจาก การประมวลปัญหาในรอบปี 2554 ที่ผ่านมาก็พบว่าเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังแก้ไม่ตก แต่มีแนวโน้มดีขึ้น ปัญหาดังกล่าวคือ ยังมีเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ไม่เรียนต่อ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักยังไม่น่าพอใจ ขาดครูสาขาเฉพาะทางการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ และจำนวน โรงเรียนมีมากเกินความจำเป็น
กลยุทธ์
กลยุทธ์ที่ 1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับตามหลักสูตรและส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
กลยุทธ์ที่ 2. ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทยและวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กลยุทธ์ที่ 3. ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงครอบคลุมผู้เรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
กลยุทธ์ที่ 4. พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ
กลยุทธ์ที่ 5. พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแนวทางการกระจายอำนาจ ตามหลักธรรมาภิบาล
กลยุทธ์ที่ 6. พัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ยากลำบาก
10  จุดเน้น สพฐ. ปี 2556

จุดเน้นที่ 1 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้หลักเพิ่มขึ้น โดยผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 (Student Achievement ) 
จุดเน้นที่ 2 เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ (EQ : Emotion Quotient)
จุดเน้นที่ 3 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อ่านคล่อง เขียนคล่อง และมีทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน (Literacy, Numeracy & Reasoning Abilities)
จุดเน้นที่ 4 นักเรียนทุกคนมีความสำนึกในความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และอยู่อย่างพอเพียง(Sufficiency & Public Mind)
จุดเน้นที่ 5 นักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปศาสตร์ทุกคนได้รับการส่งเสริมให้มีความเป็นเลิศ (Excel to Excellence)
จุดเน้นที่ 6 ประชากรวัยเรียนทุกคน มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษา ด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อลดอัตราเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ส่งเสริมการเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ (Alternative Access)
จุดเน้นที่ 7 นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน และสถานศึกษาทุกแห่งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
จุดเน้นที่ 8 นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมพหุวัฒนธรรม (ASEAN Community)
จุดเน้นที่ 9. สถานศึกษาทุกแห่งได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีระบบประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็งและได้รับการรับรองจากการประเมินคุณภาพภายนอก (Quality Schools) 
จุดเน้นที่ 10. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งมีคุณภาพตามมาตรฐานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (Effective Service Areas)

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การนิเทศโครงร่างองค์กรขอนแก่นวิทยายน

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันกำหนดการที่คณะกรรมการนิเทศโครงร่างองค์กรจากศูนย์ประสานงานการพัฒนาโรงเรียนมาตรฐานสากลคณะที่ 7 กำหนดให้มีการนิเทศโครงร่างองค์กรโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเขียนโครงร่างองค์กรที่ถูกต้องนำเสนอรับการประเมิน OBECQA ต่อไป  สาระสำคัญของการนิเทศครั้งนี้คือ

1.นิเทศการเขียนโครงร่างองค์กรสถานศึกษา
2.ให้ข้อชี้แนะในการปรับปรุงโครงร่างองค์กรของสถานศึกษา
3.แลกเปลี่ยนเรียนรู้การเขียนโครงร่างองค์กรสถานศึกษา

ผลการนิเทศ ทำให้โรงเรียนได้ข้อคิดในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมต่อไป



วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความเคลื่อนไหวการปฏิรูปการศึกษาไทย

ความเคลื่อนไหวในการปฏิรูปการศึกษาของไทยในช่วงที่การเมืองวุ่นวายนี้มีดังนี้ครับ
รศ.วันชัยได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย โดยเริ่มจากยกข้อเสนอของ ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่มี ๕ ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยเรื่องปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปครู เร่งสร้างความเข้มแข็ง STEM ปฏิรูปโครงสร้าง และICT เพื่อการศึกษา แต่ตัดสินใจเลือกทำปฏิรูปหลักสูตรก่อนยุทธศาสตร์อื่นเพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นบอกถึงเหตุผลว่าทำไมต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร ๖ ประการ ทั้งเรื่องของความทันสมัย (หลักสูตรควรปรับทุก ๕-๑๐ ปีหลักสูตรปัจจุบันปรับจากปี ๒๕๔๔ รวมใช้มาแล้ว ๑๒ ปีโลกเปลี่ยนเร็วมาก) ความเหมาะสม (หลักสูตรเดิมสั้นย่นย่อเกินไปปลายเปิดมากไปเวลาเรียนมากไป) โครงสร้างหลักสูตร (๘ กลุ่มสาระ) ขั้นตอนของหลักสูตร (การเรียนแบบหน้ากระดาน) แนวโน้มการศึกษาปัจจุบัน (สิงคโปร์ teach less learn more, learn how to learn, การเรียนอย่างยั่งยืน lifelong learning) สัมฤทธิผลของการศึกษา (การศึกษาไทยตกต่ำทรัพยากรมนุษย์ของไทยอ่อนแอ) โดยยกผลการทดสอบ PISA ที่เด็กไทยทำคะแนนได้ต่ำมาประกอบ รวมทั้งนำเสนอตารางเปรียบเทียบกรอบหลักสูตรและเวลาเรียนของประเทศต่างๆ สุดท้ายนำเสนอ (ร่าง) โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ว่าประกอบด้วย ๔ ส่วน คือ Knowledge, Skills, Values & Attitudes, และ Learning Tools



ศ.สุมาลีได้นำเสนอว่าหลักสูตรนี้มีลักษณะสำคัญ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) เน้นสอนให้น้อย แต่ให้เรียนมากขึ้น โดย ๘๐๐-๑๐๐๐ ชั่วโมง จะรวม ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกัน ได้แก่  classroom + self-learning, field study, extra-curricular activities (๒) เน้น Learning Outcome-Based (๓) เน้นแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีความสอดคล้องกันของ Learning Outcomes, Learning Activities และ Assessments (๔) เน้นบูรณาการรายวิชาและมีระดับความลึกซึ้งขึ้นของความรู้และทักษะในชั้นเรียนที่สูงขึ้น เช่น ป.๒ มีระดับความลึกซึ้งมากกว่า ป.๑ (๕) เน้นการประเมินตนเองทั้งของครูและนักเรียนในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการประเมินระหว่างเรียนเป็นพิเศษ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐานได้คำนึงถึงเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติด้วย เช่น เตรียมคิดระบบบริหารจัดการข้อมูลการประเมิน หรือ Assessment Data Management System (ASMS) เพื่อจะช่วยให้มีการเก็บข้อมูลความรู้ ทักษะ และค่านิยม/เจตคติ อย่างต่อเนื่อง เตรียมยกร่างบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน (ผู้บริหารและครู) เตรียมเสนอการพัฒนาครูจะให้มี In-service Days และ Professional Learning Community (PLC) โดยจะกำหนดว่าครูแต่ละคนจะพัฒนากี่วันต่อปี  เตรียมรวบรวมแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีมาไว้ใน Lesson Bank เพื่อให้ครูเลือกใช้ นอกจากนั้นยังจะเตรียมเสนอแนะกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจให้ครูนำไปใช้ด้วย

ข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิต่อการพัฒนาการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรใหม่ ดังนี้

 ๑. ไม่ควรประกาศใช้ถ้าไม่พร้อม หากจะประกาศใช้หลักสูตรบนความไม่พร้อมของบุคลากร หนังสือสื่อการเรียนรู้ คู่มือครู แผนการจัดการเรียนรู้ และเอกสารหลักฐานการวัดประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ควรให้ใช้หลักสูตรเดิมไปก่อน เพราะดำเนินการบนความไม่พร้อมจะเกิดความสูญเปล่าและผลเสียต่อนักเรียน (ประเด็นนี้ อ.รัชนี อมาตยกุล นำเสนอไว้อย่างชัดเจน ซึ่งผมได้ขออนุญาต อ.รัชนีนำวิดีโอที่บันทึกไว้ไปเปิดให้น้องพี่ได้ดูด้วยครับ) โปรดดูคลิปวิดีโอ ที่นี่>> http://www.youtube.com/watch?v=w6oJC4GZoEw
  ๒. ข้อแย้งสมมติฐานการจัดทำหลักสูตรใหม่  ๒ ประการ ประการแรก หลักสูตรไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาเป็น  System Dynamics เป็นระบบที่เป็นพลวัตร หากแตะส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะมีผลกระทบกับองค์กระกอบส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ประการที่สอง การอ้างผล PISA มาเป็นเหตุผลการเปลี่ยนหลักสูตรอาจไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะการนำข้อมูลนี้มาใช้ต้องเข้าใจปรัชญาของการทดสอบ PISA เพราะเป็นการวัดผลสมรรถนะของกลุ่มชนชั้นกลางของกลุ่มประเทศ  OECD ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD และประเทศเรามีเยาวชนที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทั่วประเทศ เพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนั้น จะเห็นว่า ความมุ่งหวังของนักเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กต้องการเข้าโรงเรียนเพราะหวังว่าจะได้รับประทานอาหารกลางวัน ได้ดื่มนม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า เด็กๆ จะได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่า สภาพเด็กของเราโดยส่วนใหญ่ได้รับปัจจัยพื้นฐานของชีวิตยังไม่ดีพอ
  ๓. ยกระดับคะแนนสอบ PISA แบบ UK การขยับผลคะแนน PISA ของเยาวชนวัย ๑๕ ปีให้สูงขึ้น ควรศึกษาแนวทางของประเทศอังกฤษ สมัย Margaret Thatcher ที่ได้มุ่งพัฒนาเยาวชนกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำว่า ๔๔๐ เป็นพิเศษ มุ่งสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา และพัฒนาด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในที่สุดก็สามารถทำให้ผลคะแนนในการสอบครั้งต่อมาดีขึ้นได้
  ๔. ระบบการบริหารจัดการบุคลากรมีปัญหา ความล้มเหลวของการศึกษาไทย อย่าพูดถึงการปฏิรูปครูเพียงอย่างเดียว ต้องปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการด้วย  จากข้อมูลจำนวนครูทั้งประเทศมีทั้งสิ้น ๕ แสนคน ปรากฏว่าเป็นครูผู้สอน ประมาณ ๔ แสนคน แต่เป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน ประมาณ ๔ หมื่นคน จะเห็นว่าอัตราส่วน ผอ.ต่อครู เป็น ๑:๑๐ ซึ่งต่ำมาก หากพิจารณาประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำงานของ ผอ./ รอง ผอ. จะพบว่า ทำงานได้ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่รัฐทุ่มเทให้ ดังจะเห็นปัญหาคุณภาพเด็ก คุณภาพครู คุณภาพการบริหารจัดการเป็นเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการคนของกระทรวงศึกษาธิการ
  ๕. การศึกษาต้องชี้นำประเทศได้ หลักสูตรต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของเรา จะเห็นว่าการจัดทำหลักสูตรครั้งนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นจุดดีและชี้นำในจุดเด่นของประเทศไทย จุดเด่นของประเทศไทยเป็นเรื่องของทรัพยากร รวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่อยู่กับธรรมชาติอย่างแนบแน่น หากเราใช้ STEM เป็นตัวนำแล้ว น่าจะก่อให้เกิดความสับสน ไม่พร้อม และอาจเป็นความขัดแย้งของสภาพที่ควรจะเป็นกับสภาพความเป็นจริง 
  ๖. การลงละเอียดของหลักสูตร เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหลักสูตรแกนกลางที่มีรายละเอียดจำนวนมาก  หรือถ้ามี ก็ควรมีรายละเอียดให้น้อยที่สุด หรือควรมีเพียงหลักการก็เพียงพอ เช่น มาตรา ๖ ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
  ๗. หลักยึดของหลักสูตร หลักการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๖ ควรยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ด้วย  (สาระของมาตรา 6 "การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข")
  ๘. ๙ ปีที่มีคุณภาพก็เพียงพอ การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุม ๑๒ ปี (ป.๑-ม.๖) อยากให้เน้นที่การศึกษาภาคบังคับเพียง ๙ ปี (ป.๑-ม.๓) แต่ให้เป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพที่แท้จริง ส่วนการเลือกเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ควรเปิดให้เป็นทางเลือกเช่นเดียวกับการเลือกเรียนอาชีวศึกษา
  ๙. แรงจูงใจผู้เรียนอาชีวะ การส่งเสริมเพิ่มจำนวนนักเรียนที่เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และมากกว่าจำนวนผู้เรียนสายวิชาการ (ม.๔-๖) แนวทางการแก้ไขหนึ่งคือ การกำหนดให้ค่าวิชาชีพของผู้จบอาชีวศึกษาให้มากกว่า เช่น จบสายวิชาชีพ ให้เงินเดือน ๑๘,๐๐๐ บาท ส่วนผู้จบสายวิชาการให้เพียง ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นต้น
  ๑๐. เน้นพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรทุ่มพัฒนาเด็กเล็กให้มากขึ้น โดยงบประมาณที่มีให้ทุ่มเทที่กลุ่มเด็กปฐมวัย (๐-๖ ปี) เพราะช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีการเรียนรู้สูงมาก ควรพัฒนาให้คิดเป็น ซึ่งถือเป็นการลงทุนเตรียมคนของประเทศที่คุ้มค่ามาก
  ๑๑. เนื้อหาหลักสูตรยังขาดเรื่องสำคัญ เป็นเนื้อหาที่ถ้าเด็กไม่ได้เรียนรู้แล้วจะมีผลกระทบสูงต่อชีวิต ได้แก่ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการฝึกจิต/สมาธิ เรื่องความเข้าใจในตนเอง (เรียนรู้ว่าเราคือใคร-เราคือพุทธะ-ผู้รู้ผู้ตื่นผู้แสวงหาความรู้ความจริง?) เรื่องโภชนาการ-กินเป็น-ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพตนเอง 
  ๑๒. จุดยืนและทิศทางการพัฒนาคนไทยคืออะไร ในการพัฒนาเรามักอ้างอิงถึงความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ เช่น Teach Less Learn More แต่สิงคโปร์ตอนนี้มีปัญหาเรื่องความเครียดและขาดความสุข สิงคโปร์ได้เชิญ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ไปสอนเรื่อง ความสุขในชีวิต” “การรู้จักตนเอง” และในเรื่องเดียวกันนี้ยังมีประเทศอินโดนีเซีย ภูฏาน ได้เชิญให้อาจารย์ไปพัฒนาครูในประเทศเหล่านี้หลายแสนคน  รวมทั้งประเทศเหล่านี้ได้ส่งครูให้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนสัตยาไสย และโรงเรียนรุ่งอรุณด้วย จะเห็นได้ว่า การศึกษาไทยยังมีส่วนที่ดี เป็นการจัดการศึกษาที่ปลูกฝังความดีงามและความสุข ดังนั้น การศึกษาและหลักสูตรใหม่ของประเทศไทย จะไม่เป็นหลักสูตรทีทำตามกระแสประเทศอื่น แต่มีจุดยืนของเราเอง เป็นคนที่สามารถปรับตัวเรียนรู้ได้และไม่ตกยุค
  ๑๓. นำ ICT มาขยายครูสอนดีและแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน ควรส่งเสริมให้ครูดี ครูเก่ง ได้นำการสอน-การอธิบายของครูไปไว้ใน IT เช่นเดียวกับ Khan Academy
  ๑๔. การลดเวลาเรียน ในการลดเวลาเรียนลง เช่น ลดจาก ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เหลือ ๘๐๐ ชั่วโมง ควรดูบริบทของประเทศไทย และหาวิธีการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานและไม่สามารถดูแลลูกเมื่อกลับจากโรงเรียนเร็วได้
  ๑๕. Checkpoint ตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะ ควรมีการตรวจสอบผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะๆ หรือมีการ Checkpoint เป็นขั้นๆ ของแต่ละวิชา หากนักเรียนสามารถผ่านเกณฑ์จริงๆ แล้ว จึงจะให้ผ่านหรือเลื่อนระดับชั้นสูงขึ้นไปได้ ถ้ายังไม่ผ่านจะไม่สามารถเลื่อนระดับได้
  ๑๖. การคัดเลือกคนเก่งเป็นครูและพัฒนาครูต่อเนื่อง ควรเน้นที่การพัฒนาครู เพื่อให้ครูมีคุณภาพ เพราะพบว่าครูที่ไม่มีคุณภาพจะมีความรู้ในเนื้อหาสาระที่สอนต่ำ ครูไม่ได้  concept และมักพบว่าครูเหล่านี้จะบอกว่าไม่มีเวลาในการพัฒนาตนเอง ไม่อยากพัฒนา ไม่กระตือรือร้น และขาดความทะเยอทะยาน รวมทั้งครูมีหนี้สิน ซึ่งสะท้อนว่าครูใช้ชีวิตไม่เป็น จากข้อมูลนี้ อาจต้องคัดเลือกคนเรียนดีมาเป็นครู เพราะไม่สามารถมาเสริมความเก่งทีหลังได้ง่ายนัก รวมทั้งการส่งเสริมครูให้มีฐานะทางการเงินที่ดี และพัฒนาให้ครูคิดเป็นด้วย
  ๑๗. การบริหารจัดการคุณภาพโรงเรียนระดับจังหวัด ในการปฏิรูปการศึกษาอาจจะทำเรื่องหลักสูตรเป็นเรื่องสุดท้ายก็ได้ แต่เรื่องสำคัญน่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการโรงเรียน อยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน เพราะครูจะทำตามผู้บริหารโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งควรให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนในการเสนอนโยบายด้านการศึกษาและผลักดันการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในจังหวัด
  ๑๘. การต่อยอดจากหลักสูตรเดิมสู่หลักสูตรใหม่ การจัดทำหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ควรตอบคำถาม ๓ คำถาม ได้แก่ (๑) ของเดิมมีอะไรดีอยู่แล้ว (๒) ของเดิมมีอะไรเกือบจะดี และ(๓) ของเดิมมีอะไรที่แย่และควรเปลี่ยน

  สุดท้าย ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล และ รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับข้อสังเกตของผู้ทรงคุณวุฒิไปพิจารณา และขอโอกาสให้กลุ่มที่ไม่ใช่นักการศึกษา ที่เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เช่นอาจารย์ทั้งสอง ได้ดำเนินการให้สำเร็จ และอาจสามารถทำได้ดีเช่นเดียวกับบางประเทศที่ดำเนินการจัดทำหลักสูตรการศึกษาชาติโดยนักวิทยาศาสตร์เช่นกัน